วันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ภาวะใจร้อน : ภาวะใจกระจก โดย ผศ.ดร.สุวิญ รักสัตย์

เกริ่นนำ
  

โลกตอนนี้กำลังตื่นตัวกับปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) ซึ่งเป็นปัญหาคุกคามความปลอดภัยของมนุษยชาติอันเกิดจากธรรมชาติ ทั่วทุกมุมโลกกำลังส่อเค้าปัญหาที่พร้อมจะประทุทำลายชีวิตของมนุษย์ทุกเมื่อ ถ้าหากธรรมชาติไม่แสดงผลในทางคุกคามความปลอดภัยของมนุษย์ ไหนเลยมนุษย์จะใส่ใจกับปัญหาเหล่านี้ นี่เป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่งของสัตว์ ต้องยอมรับความจริงว่า โลกนี้ก็มีอายุ มีเกิด พัฒนาการไป และดับสลายไปในที่สุด โลกก็เปรียบเหมือนสิ่งมีชีวิตอย่างหนึ่ง ดังที่เจมส์ เลิฟล๊อค (James Lovelock) เรียกโลกนี้ว่า Gaia คือ แม่ปฐพี ผู้ให้กำเนิดสรรพสิ่ง โลกใบนี้หากเปรียบเป็นคน ก็เป็นคนอายุประมาณ ๕๐ ปี อีกทั้งเป็นคนที่มีโรคหนักๆ หลายโรครุมเร้าอีกด้วย มีแต่จะทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ ผู้เยียวยารักษาเริ่มรู้สึกอ่อนใจ

นักอนุรักษ์โลก (Global Preservationists) กลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวิทยาศาสตร์ กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรโลก กลุ่ม Green Peace เป็นต้น ได้สังเกตภาวะผิดปกติที่เกิดขึ้นกับโลก โดยสังเกตจากอุณหภูมิสูงขึ้น คลื่นความร้อนรุนแรงขึ้น ภัยแล้ง น้ำท่วม พายุ ฤดูกาลแปรปรวน น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และภัยพิบัติต่างๆ โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นถี่ในระยะนี้ แต่ละเหตุการณ์นั้นได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในสาเหตุทั้งหลายก็คือ ภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) เป็นปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและโลกร้อน (Climate Change & Global Warming)


ภาวะก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) คือ กระบวนการลูกโซ่ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในทางที่ผิด เป็นความไม่เข้าใจในผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับโลกใบนี้ ภาวะนี้เกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของรังสีแสงอาทิตย์ ชั้นบรรยากาศ อากาศ กับไอน้ำ โดยปกติบรรยากาศของโลกที่ประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ โอโซน และไอน้ำ จะทำหน้าที่ในการดูดซับรังสีอินฟราเรดที่ลงมาบนโลก ส่วนรังสีคลื่นสั้นก็จะสะท้อนออกไป แต่หลังจากที่มนุษย์ได้สร้างอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า กระบวนการปกติของโลกก็ถูกกระทบทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก หรือภาวะตู้อบไอน้ำนั่นเอง ก๊าซที่ปล่อยออกมา ก็กลายเป็นก๊าซพิษ ทำลายชั้นบรรยากาศทำให้รังสีคลื่นสั้นของแสงอาทิตย์ลงมาบนพื้นโลกได้ อีกทั้งไม่สามารถดูดซับรังสีอินฟราเรดได้

เมื่อรังสีเหล่านี้ก็จะทำปฏิกิริยากับชีวิตพืช สัตว์ทุกชนิดบนโลก บางชนิดที่ปรับตัวได้ก็อยู่ได้ต่อไป บางชนิดที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะสูญพันธุ์ไป สำหรับมนุษย์นั้นผลกระทบโดยตรงต่อผิวหนัง ทำให้เกิดเซลล์มะเร็งขึ้น ผู้คนบนโลกเป็นโรคมะเร็งผิวหนังมากขึ้น นี่เป็นปรับตัวอย่างหนึ่งของชีวิตมนุษย์ ส่วนผลกระทบอื่นๆ ที่เป็นลูกโซ่นั้นไม่สามารถคาดคำนึงได้มีมหาศาล อันสืบเนื่องจากภาวะเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน (Global Warming)


ความสัมพันธ์ระหว่างโลกกายภาพกับโลกจิตภาพ
   
โลกกายภาพ ในที่นี้หมายเอาระบบนิเวศ (Ecology)  ส่วนโลกจิตภาพ หมายเอาวงจรชีวิตของมนุษย์ (Human Circle) เมื่อโลกกายภาพมีปัญหาก็ย่อมกระทบกับโลกจิตภาพอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้


๑. ผลกระทบต่อโลกกายภาพ : ระบบนิเวศ

นิเวศวิทยา (Ecology) คือ ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ความเข้าใจระบบนิเวศ (Ecosystem) คือ เข้าใจโครงสร้างของระบบเหล่านั้นว่ามีความสามารถควบคุมกันและกันเองอย่างไร มีการแลกเปลี่ยนสสารและพลังงานต่อกันและกันอย่างไร ระบบนิเวศมีกลไกในการปรับสภาวะตัวเอง (Self-Regulation) โดยมีรากฐานมาจากความสามารถของสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศนั้นๆ คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภคและผู้ย่อยสลาย ในการทำให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารผ่านสิ่งมีชีวิต ถ้าระบบนิเวศนั้นได้รับพลังงานอย่างเพียงพอ และไม่มีอุปสรรคขัดขวางวัฏจักรห่วงโซ่อาหารระบบนิเวศย่อมมีภาวะสมดุล

แต่พอเกิดภาวะเรือนกระจกก็ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนขึ้นอย่างกะทันหัน และยังเพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ระบบนิเวศดังกล่าวก็ไม่สมดุล ระบบผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้ย่อยสลาย ถูกกระทบกระเทือน จึงเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศขยายวงกว้างออกไป ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติอย่างรุนแรง อากาศเปลี่ยนแปลง การกัดเซาะชายฝั่ง การพังทลายของดิน มีทะเลทรายเพิ่มขึ้น ลมพายุรุนแรง อุทกภัยบ่อย ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง เกิดภัยแล้ง ไฟป่า น้ำแข็งขั้วโลกละลาย เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า เอลนินโญ (El Ninotilde) และลานินญา (La Ninatilde) ผลสืบเนื่องจากผลกระทบนี้ก็ทำให้เกิดการสูญพันธ์ของพืชและสัตว์และเกิดโรคใหม่ๆ ขึ้น


๒. ผลกระทบต่อโลกจิตภาพ : วงจรชีวิตมนุษย์

มีคำถามว่า เหตุใดการนำเสนอภาพของมนุษย์ต่างดาวมีลักษณะแปลกๆ ไปจากมนุษย์ในโลกนี้ที่เราเห็น แม้แต่มนุษย์ในโลกนี้ก็มีลักษณะแตกต่างกันไป ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะธรรมชาติได้จัดสรรให้มนุษย์และสัตว์เป็นไปตามลักษณะของภูมิศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Climate Differentiation) มนุษย์ที่เกิดมาภายใต้ภาวะระบบนิเวศเช่นนี้ ย่อมมีความผิดปกติทางพันธุกรรม เกิดความเปลี่ยนแปลงทางยีนส์ นี่เป็นความละเอียดอ่อนทางสรีรวิทยา มนุษย์กำลังถูกธรรมชาติจีเอ็มโอ เปรียบเหมือนพืชผลไม้จีเอ็มโอที่ถูกมนุษย์ตัดต่อพันธุกรรมนั่นเอง
   
ผลกระทบต่อวงจรชีวิตมนุษย์ต่อมาก็คือ ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอย่างมหาศาลไม่อาจคาดคำนวณได้ เช่น พายุนากีสถล่มพม่า น้ำท่วมที่บังคลาเทศ แผ่นดินไหวที่เฮติ ตูรกี ปากีสถาน จีน อินโดนีเซีย ซึนามิที่สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตมนุษย์ไปเป็นบริเวณกว้างหลายประเทศ เป็นต้น ผลกระทบที่ตามมาก็คือ ความทุกข์ยากอันเกิดจากภัยพิบัติทางร่างกาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บ ขาดแคลนอาหาร ไม่มีบ้านเรือนอาศัย ผลผลิตทางการเกษตร ทุกอย่างกระทบไปหมด รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจ
   
นี่คือความสัมพันธ์ของโลกกายภาพกระทบต่อโลกจิตภาพ  ความเชื่อมโยงที่อิงอาศัยกันและกันเกิดและอิงอาศัยกันและกันดับ ดังสำนวนที่ว่า “เด็ดดอกไม้กระเทือนดวงดาว”



ภาวะใจร้อน : อัตราเร่งภาวะเรือนกระจก

นับตั้งแต่โลกเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม คริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ เป็นต้นมา ซึ่งถือว่าเป็นยุครู้แจ้งทางวิทยาศาสตร์ (Enlightenment Age) มีการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม สร้างเครื่องยนต์ กลไก เครื่องไม้เครื่องมือทางอุตสาหกรรมกันเป็นการใหญ่ มีการใช้พลังงานเผาไหม้เชื้อเพลิงในปริมาณที่มาก การทำงานที่ใช้แรงกายมนุษย์นั้นไม่สามารถตอบสนองความเร่งร้อนภายในใจของมนุษย์ได้อีกต่อไป ใจที่เร่งร้อนต้องการให้ได้ปริมาณให้มากๆ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือทางอุตสาหกรรมเข้ามาช่วย
ภาวะใจร้อนนี้มองได้ใน ๔ มิติ ได้แก่

    •    มิติความร้อนทางความคิด
ในมิตินี้ หมายเอาความคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ (Modern Age) ที่กำลังหลุดพ้นจากการกดขี่ทางปัญญาของมนุษย์ที่เรียกว่ายุคมืด (Dark Age) พอได้โอกาสเท่านั้นมนุษย์จึงเร่งร้อนทำทุกอย่างที่ตนเองอยากทำอย่างเต็มที่  นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายถึงกับประกาศชัยชนะที่มีต่อศาสนา พวกเขาต้องการเปลี่ยนโฉมหน้าของโลกนี้ให้เป็นโลกในอุดมคติที่เรียกว่า “สวรรค์บนดินตามแนววิทยาศาสตร์” (World Paradise through Science) ความเจริญทางด้านวิทยาศาสตร์ผลิดอกออกผล โตวันโตคืน เป็นความภาคภูมิใจของมวลมนุษยชาติที่สามารถพิชิตธรรมชาติได้ เป็นความเร่าร้อนทางความคิดที่สืบทอดมาจากโสเครติสที่ถือว่า พระเจ้าสร้างธรรมชาติมาเพื่อประโยชน์ของมนุษย์จนมาถึงเดส์การ์ตส์ ที่ถือว่า ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ทำให้มนุษย์สามารถครองธรรมชาติได้ ปัจจุบันอัตราความเร่าร้อนทางความคิดนี้มีมากยิ่งกว่าเดิมหลายเท่าอันสืบเนื่องจากเครื่องมือและเทคโนโลยีอันทันสมัย
ความเร่าร้อนทางความคิดนี้ ดุจดังเด็กได้ของเล่นใหม่ โดยไม่ได้เฉลียวใจว่า ความเจริญก้าวหน้าเหล่านั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานอะไร ไม่ทราบว่า ความเจริญที่คิดนั้นนำไปสู่วัฒนะหรือหายนะ ตามสำนวนที่ว่า “นกซุ่ม เกาทัณฑ์ซ่อน” หรือ “Predatorism” หมายความว่า ความเร่าร้อนทางความคิดนั้นสร้างความภาคภูมิใจให้กับมนุษย์ แต่หาทราบไม่ว่า สิ่งที่ตนพิชิตมา กำลังรอการตอบสนองคืนภายหน้าต่อมนุษย์ที่รุนแรงกว่าเดิม บัดนี้เริ่มปรากฏออกมาแล้ว

    •    มิติความร้อนทางศีลธรรม
    ความร้อนในมิตินี้ หมายเอา ความร้อนที่แผดเผาใจทำให้มนุษย์สูญเสียศีลธรรม ลุแก่อำนาจแห่งไฟทั้ง ๓ ได้แก่ โลภ โกรธ และหลง เมื่อถูกไฟเผาผลาญให้เร่าร้อน “ต่างแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่” เบียดเบียนกันและกันอย่างไร้ศีลธรรม ดังพุทธพยากรณ์ความฝันของพระเจ้าปเสนทิโกศลในมหาสุบินชาดกว่า ในอนาคตกาล เมื่อโลกหมุนไปถึงจุดเสื่อม ผู้นำและหมู่มนุษย์ไม่ตั้งอยู่ในธรรม ลุอคติด้วยอำนาจความพอใจ ไม่วินิจฉัยอรรถคดีโดยธรรม มีจิตมุ่งแต่สินบน โลเลในทรัพย์ ไม่มีคุณธรรมคือความอดทน ความเมตตา และความเอ็นดูต่อหมู่ชาวแว่นแคว้น จักเป็นผู้กักขฬะ หยาบคาย คอยแต่เบียดเบียนหมู่มนุษย์ เมื่อกุศลธรรมลดน้อยถอยลง อกุศลธรรมหนาแน่นขึ้น ในกาลที่โลกเสื่อม ฝนจักแล้ง และตีนเมฆจักขาด ข้าวกล้าจักแห้ง ทุพภิกขภัยจักเกิด ลมทั้งหลายจักพัดไม่สม่ำเสมอ พัดแรงจัด เทวดาไม่ให้ฝนตกทั่วถึง ข้าวจักเสียเพราะฝนไม่ตกและตกมากเกินไป แม้ในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาตและปัญจกนิบาต พระพุทธเจ้าตรัสถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างความประพฤติผิดศีลธรรมกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกไว้ด้วย “ถ้าประชาชนไม่ประพฤติธรรม การโคจรของพระจันทร์และพระอาทิตย์ก็วิปริต อากาศก็วิปริต ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล การผลิตก็ไม่ได้ผล ทำให้ชีวิตต้องมีปัญหา”
    ความเร่าร้อนอันเกิดจากไฟทั้ง ๓ กองนั้นสร้างภาวะให้โลกร้อนมาก เป็นความร้อนที่เกิดจากความทุกข์ทรมานทางชีวิตจิตใจที่เกิดจากการเบียดเบียนข่มเหง เข่นฆ่ากันและกัน และความทุกข์ทรมานอันเกิดจากความวิปริตผิดแผกไปจากเดิมของระบบนิเวศ

    •    มิติความร้อนทางเคมี
    ความร้อนในมิตินี้ หมายเอาการสร้างความร้อนทางเคมีขึ้นเพื่อทำลายล้างมนุษย์ด้วยกันประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้แล้วว่า ระเบิดปรมาณูทั้ง ๒ ลูกที่ถล่มเมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิ เป็นประจักษ์พยานอย่างดีถึงความเร่าร้อนทางใจของมนุษย์ ชีวิตของมนุษย์ต้องสังเวยความเร่าร้อนทางใจนั้นไป เฉพาะสงครามโลกครั้งที่ ๒ นี้ มีจำนวนถึง ๑๐๐ ล้านคน กล่าวกันว่า ปัจจุบันนี้ว่า ความเจริญก้าวหน้าของอาวุธเคมีเหล่านี้มีอำนาจทำลายล้างยิ่งกว่าเดิมหลายเท่า แทบจะไม่เหลือมนุษย์ สัตว์บนโลกนี้ด้วยซ้ำถ้าหากมีการใช้เพียง  ๑๐ เปอร์เซ็น ของระเบิดที่มีอยู่ในการครอบครองของแต่ละประเทศมหาอำนาจ
นอกจากนั้น ความร้อนของกัมมันตภาพรังสีของระเบิดเหล่านั้นที่มีการทดลองในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ฟุ้งกระจายไปในชั้นบรรยากาศของโลกจนทั่วแล้วก่อนที่จะทดลองกันใต้ดิน อี เอฟ ชูมาเชอร์ (E.F.Shumacher) กล่าวว่า “ที่โลกเป็นเช่นนี้ก็เพราะความเจริญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ได้เริ่มต้นหล่อเลี้ยงอาวุธร้ายขึ้นเพื่อคุกคามโลกที่พวกเราอยู่ ส่วนเทคโนโลยีก็ล้างผลาญทรัพยากรของโลกอย่างน่าใจหาย และทิ้งขยะพิษไว้ทำอันตรายต่อทุกชีวิตบนโลก” เคมีที่ฟุ้งกระจายไปทั่วโลกนั้นเกิดจากภาวะใจที่รุ่มร้อน เป็นอัตราเร่งที่ร้ายแรงและรวดเร็วต่อภาวะโลกร้อน

    •    มิติความร้อนทางเศรษฐกิจ
ใจที่รุ่มร้อนผ่านทางเศรษฐกิจเป็นเหตุให้เกิดภาวะโลกร้อน เทคโนโลยีเชิงอุตสาหกรรมนั้นมีผลโดยตรงกับระบบนิเวศ เนื่องจากอุตสาหกรรมเป็นเชิงเส้น แต่ระบบนิเวศของธรรมชาติเป็นเชิงวัฏจักร ธุรกิจของมนุษย์นำเอาทรัพยากรธรรมชาติมาแปรเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์บวกกับของเสีย แล้วขายผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภค แล้วผู้บริโภคก็ทิ้งของเสียเพิ่มขึ้นอีก หลังจากสิ้นสุดการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้น นี่คือระบบแบบเชิงเส้น ไม่หวนกลับมาเป็นปัจจัยบริโภคและย่อยสลายของส่วนอื่น
   
นอกจากนั้น ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศ ได้สร้างความรุ่มร้อนมากขึ้นไปอีก ปัจจุบันโลกถือเอาประเทศร่ำรวย ยากจน พัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนาอยู่ที่ “GDP” (Gross Domestic Product) คือค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติภายในประเทศ ยิ่งจีดีพีสูงเท่าไหร่ ประเทศนั้นก็ได้รับการยอมรับว่ายิ่งเจริญ ยิ่งมั่งคั่งเท่านั้น ทุกประเทศจึงพยายามตั้งเป้าของ GDP ของตนให้สูงขึ้น โดยเข้าใจว่า เมื่อประชากรมั่งคั่งก็จะทำให้คนในชาติมีความสุข คนในชาติจะได้มีกินมีใช้ ชาติจะเจริญ เป็นประเทศที่เรียกว่า Developed Country เพราะการตั้งความคิดเช่นนี้แต่ละประเทศพยายามสร้าง GDP ให้สูงด้วยยุทธวิธีอันหลากหลาย เร่งรัด กระตุ้น โฆษณา สร้างภาพ หลอกล่อ มอมเมาให้เกิดการใช้จ่าย ให้ประชาชนทำงานให้หนักแล้วใช้จ่ายให้ทะลุเป้า เพื่อทำให้ประเทศมั่งคั่ง “GDP” สูง สร้างความรุ่มร้อนทางเศรษฐกิจให้กระพือขึ้น แต่หารู้ไม่ว่า สิ่งที่ตามมากับ “GDP” ก็คือ “G2DT” (Gross Domestic Destruction and Tension) หมายถึง ค่าความเครียดและการทำลายมวลรวมของประชาชาติและสิ่งแวดล้อมสูงตามไปด้วย เมื่อค่าความเครียดและการทำลายสูง ความสุขในชาติก็หดหาย เกิดปัญหาสังคมตามมาอย่างมากมาย


ภาวะใจกระจก (Greenheart Effect)
   
ภาวะใจกระจก (Greenheart Effect) คือ ภาวะที่ใจถูกรมด้วยกิเลสอันหยาบ ภาวะที่ใจบกพร่องในการหักห้าม ละเมิดต่อมนุษยธรรมทั้ง ๕ ประการ ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดลูกเมียผู้อื่น โกหก และเสพสิ่งเสพติด ทำให้สิ่งแวดล้อมทางใจเป็นพิษ เกิดภาวะใจร้อน (Mental Warming) เมื่อใจร้อน เกิดภาวะเรือนกิเลส (Defilement House Effect) ภาวะใจกระจกนั้นเกิดขึ้นจากปฏิกิริยาของสิ่งเร้าภายนอก (อายตนะภายนอก) กระทบ (ผัสสะ) กับเครื่องรับภายใน (อายตนะภายใน) กระตุ้นความรู้สึก (เวทนา) ให้อยากได้ กระหาย (ตัณหา) เมื่อได้มาแล้วก็ครอบครองยึดมั่น (อุปาทาน) ส่งทอดกระแสซึ่งกันและกัน อย่างนี้ เป็นภาวะที่เป็นระบบ เป็นกระบวนการลูกโซ่ (Negative Circle)
โดยปกติใจนั้นทำหน้าที่รู้สึก จำได้ หมายรู้ ปรุงแต่ง เมื่อปรุงแต่งเสร็จแล้วก็เกิดการรับรู้ แต่หลังจากที่ใจนั้นถูกความพอใจอย่างยิ่ง (อิฏฐารมณ์) และความไม่พอใจอย่างยิ่ง (อนิฏฐารมย์) เข้าครอบงำ อันเป็นกระแสกิเลสที่แรงเข้าทำลายระบบ พลังตัณหาก็เริ่มสร้างระดับความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อตัณหาเข้มข้น พลังการเข้าไปยึดมั่นถือมั่นก็มีระดับเข้มข้นตาม พลังแห่งตัณหาและอุปาทานได้สร้างบรรยากาศใจกระจกขึ้นมาทันที กลายเป็นพลังพิษ พลังพิษนี้ทำลายระบบคุ้มครองใจของมนุษย์ที่เรียกว่า หิริและโอตตัปปะเสียสิ้น ทำให้คลื่นแห่งอกุศลจิตเข้าสู่ระบบของจิตอย่างเต็มที่ ใจก็สูญเสียศักยภาพที่จะซึมซับเอากระแสแห่งธรรมสัญญา (เหตุผล) ไว้ได้
ตามธรรมดา ใจก็มีพลังของมันในตัว เป็นพลังขับเคลื่อนให้มนุษย์สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างวิจิตรพิสดาร พลังสร้างสรรค์ในทางบวกนี้เรียกว่า “ฉันทะ” ขณะที่ฉันทะทำงาน ก็จะสร้างกระแสศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาขึ้นตามลำดับ แต่พอถูกคลื่นความพอใจอย่างแรงต่ออิฏฐารมย์และความไม่พอใจอย่างแรงต่ออนิฏฐารมย์เข้ามาเท่านั้น พลังทางลบก็เข้ามาทันที ตัณหาเข้ามารับช่วงพอดีทำปฏิกิริยาทางกรรมเคมี เกิดการยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงจัง เมื่อนั้นภพและชาติจึงเกิดขึ้นอย่างชัดเจน อัตตาเริ่มทำงานอย่างกำลังความสามารถ เริ่มมีการครอบครองหรือเริ่มมีการทำลายล้างขึ้นมาทันที  ดุจดังภาวะเรือนกระจกของโลกที่เกิดจากการสร้างอุตสาหกรรม ปล่อยมลพิษ ตัดไม้ ทำลายป่า กระบวนการปกติของโลกก็ทำปฏิกิริยารูปแบบใหม่ขึ้น ได้แก่ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสมีมากขึ้น ก๊าซเหล่านี้ทำให้เกิดความเข้มข้นของไอน้ำในบรรยากาศจนเกิดเป็นภาวะเรือนกระจก ทำลายระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตบนโลกไป ฉะนั้น

แนวทางการแก้ปัญหาภาวะใจกระจก

    สำหรับแนวทางแก้ไขภาวะใจกระจก ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้โลกกายภาพและโลกแห่งจิตภาพรอดพ้นจากหายนะ ในที่นี้จะได้แสดงแนวทางทั้งที่เป็นระดับหลักการ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติไว้ ดังนี้

    •    ระดับหลักการ
ในระดับนี้ คือ ระดับสร้างความเข้าใจร่วมกันก่อน อยู่ในขั้นปรับทัศนคติให้ตรงกัน ในการปรับทัศนคตินั้น ต้องปรับที่กระบวนทัศน์ (Paradigm) ให้เข้าถึงกระบวนทัศน์ที่เรียกว่า กระบวนทัศน์ไม่ยึดมั่นถือมั่น (Non-Attachment Paradigm) หรือที่เรียกว่า “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรเข้าไปยึดมั่น ถือมั่น” เป็นกระบวนทัศน์ที่ให้ความสำคัญต่อธรรมชาติทุกส่วน มองเห็นธรรมชาติสัมพันธ์กันและกันระหว่างกายภาพและจิตภาพ เข้าใจสรรพสิ่งอิงอาศัยกันและกันเกิดและดับ อาศัยระบบใยข่ายเป็นเครื่องมือในการเชื่อมโยงและใช้ปัจจยการภาษาในการสื่อสารค้นหาความจริง
กระบวนทัศน์ที่ถูกต้องในระดับนี้ทำให้เข้าใจระบบของสรรพสิ่งอย่างถูกต้องตามลักษณะของระบบนิเวศคือ “ของเสียเท่ากับศูนย์” ทุกอย่างเป็นอาหารของกันและกัน กายภาพเป็นอาหารของจิตภาพ จิตภาพก็เป็นอาหารของกายภาพ หล่อเลี้ยงกันไปอย่างนี้ ถ้าหากกายภาพเป็นพิษ จิตภาพก็เสพอาหารพิษ จิตภาพที่เป็นพิษ ก็สร้างการทำลายล้างกายภาพต่อไป นี่เป็นภาวะใจกระจก ดังนั้น ต้องสร้างวงจรห่วงโซ่อาหารของกายและจิตให้มีประโยชน์ บริสุทธิ์ สะอาด และสมดุล กายและจิตก็จะมีประโยชน์ บริสุทธิ์ สะอาด สงบ และสมดุล นี่เป็นระบบชีวิตนิเวศ (Bio-Ecology)
ในระดับหลักการนี้สิ่งที่จำเป็นก็คือ การคิดใคร่ครวญให้เห็นคุณ เห็นโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ให้เด่นชัด หลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นโทษและไม่เป็นประโยชน์ สิ่งนี้เป็นตัวสร้างเรือนกระจก ในระดับความคิดนี้มีกรอบคือ

    •    ควบคุมความอยากที่มีต่อสิ่งเร้าและอารมณ์กระตุ้นให้พึงพอใจ (อิฏฐารมณ์) และสิ่งเร้า กระตุ้นอารมณ์ให้ไม่พึงพอใจ (อนิฏฐารมณ์)

    •    ไม่มองเห็นสรรพสิ่งเป็นศัตรูที่จะต้องเอาชนะ เป็นการส่งเสริมอัตตา

    •    ไม่ปรุงแต่งจิตให้เห็นผิดเป็นชอบ 
ในด้านหลักการนี้โดยสรุปก็คือ วิสัยทัศน์เชื่อมโยงและการคิดที่ถูกต้อง เมื่อตั้งฐานจิตไว้ชอบเช่นนี้ได้ ภาวะใจกระจกก็จะลดลงและเป็นไปตามวงจรปกติ    

    •    ระดับวิธีการ
ในระดับนี้เป็นขั้นตอนของการสร้างพฤติกรรม คือกายภาพให้สอดคล้องกับจิตภาพ คือ ธรรมชาติ ในระดับวิธีการสร้างพฤติกรรมนี้ประกอบไปด้วยพฤติกรรม ๓ ประการ

    •    การสื่อสารที่ถูกต้อง
วิธีการสื่อสารเป็นพฤติกรรมทางวาจา เป็นเรื่องสำคัญมากในปัจจุบัน เพราะการสื่อสารผิดทำให้เกิดภาวะใจกระจกได้ง่าย ภาษาที่ใช้สำหรับการสื่อสารต้องเป็นภาษาเทพชั้นพรหม คือ พูดด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ไม่ใช้ภาษาตรรกะและภาษาคณิตศาสตร์ เพราะทั้ง ๒ ภาษานี้ไม่เหมาะกับธรรมชาติการสื่อสารของมนุษย์ เป็นภาษาที่สร้างมลภาวะให้เป็นภาวะใจกระจก

    •    การกระทำที่ถูกต้อง
วิธีการกระทำที่ถูกต้อง เป็นพฤติกรรมทางกาย คือ ไม่เบียดเบียนสรรพสัตว์ให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่แย่งชิงทรัพย์สมบัติสิ่งของๆ ผู้อื่น และไม่หมกมุ่น มักมากและมั่วในการเสพกาม ในการมีเพศสัมพันธ์อย่างเมามัน พฤติกรรมทางกายนี้ได้สร้างมลพิษไปทั่วโลกแล้วในขณะนี้ ตามสำนวนที่ว่า “ต่างแย่งอาหารกันกิน แย่งถิ่นกันอยู่ แย่งคู่กันพิศวาส แย่งอำนาจกันเป็นใหญ่” อาการที่แย่งกันเช่นนี้เป็นเหตุให้ห้ำหั่น ล้างผลาญ ทำร้ายและทำลายชีวิตกันและกันจนกลายเป็นภาวะใจกระจก ใจที่ถูก รมด้วยพิษร้ายขยายไปเป็นบริเวณกว้าง คือ

    •    การทำมาหากินที่ถูกต้อง
อาชีพเป็นเครื่องดำรงชีวิตมนุษย์ จำเป็นต้องมีอาชีพที่ถูกต้อง อาชีพสุจริต เว้นอาชีพทุจริต ได้แก่อาชีพที่หลอกลวง ประจบ บังคับ ขู่เข็ญ ล่อด้วยประโยชน์ และอาชีพค้าขายอาวุธ ค้าขายมนุษย์ ค้าขายสัตว์เพื่อฆ่า น้ำเมา สิ่งเสพติด และยาพิษ อาชีพเหล่านี้เป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะใจกระจก การทำมาหากิน อาชีพดำรงชีพจะต้องทำให้เกิดความพอเพียง พอประมาณ ไม่ผลาญให้หมดสิ้น จะต้องทำให้สมดุล ดำเนินตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็สามารถลดภาวะใจกระจกลงได้   

    •    ระดับปฏิบัติที่ถูกต้อง
ในระดับนี้เป็นระดับแห่งการดับปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่สร้างภาวะใจกระจกอีกต่อไป เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน จากจิตสำนึก ในการเยียวยา รักษาโรคใดก็ตาม ถ้าเป็นแต่ดูแลรักษาภายนอก อีกไม่นานโรคก็กลับมาอีก เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น การแก้ปัญหาภาวะใจกระจก แก้ภาวะใจร้อนนั้นต้องแก้ที่รากฐาน มีขั้นตอนอยู่ ๓ ขั้นตอน คือ

    •    การเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง
ความเอาจริงเอาจังอย่างต่อเนื่อง ไม่ทอดธุระ ไม่ปล่อยจังหวะ ต้องสังเกตด้วยว่าควรเร่ง หรือผ่อนตรงไหนอย่างไร การรักษาความต่อเนื่องนี้มีกรอบคือ เร่งขจัดมลพิษในเรือนกิเลสที่มีอยู่แล้ว ป้องกันมลพิษที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เข้ามาอีกด้วยการระมัดระวังอินทรีย์ เร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เรียกว่า Anti Virus กิเลสทั้งหลายด้วยการปลูกคุณธรรม ปลูกกุศลมูลให้เกิดขึ้น จากนั้นก็รักษากุศลมูลเหล่านั้นให้งอกงาม

    •    การสร้างจิตปัจจุบัน
เป็นกระบวนการสร้างความรู้ตัวทั่วพร้อมในทุกขณะ เป็นกระบวนประสบการณ์ตรงให้เกิดความกระเทือนทางจิตสำนึก การที่ได้เห็นได้สัมผัสจากประสบการณ์ตรง ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของกายภาพและจิตภาพให้เข้มข้น เฝ้ามองลมที่เคลื่อนเข้าออกภายในกาย เฝ้าดูความรู้สึก จับความคิด และเข้าใจสิ่งที่เกิดกับความคิดนั้น การทำเช่นนี้ทำให้ไม่เกิดภาวะที่เรียกว่า สถานการณ์ทางจิต คือ การหวนคิดถึงอดีตและการกังวลอนาคต ตรงนี้เป็นการสร้างเวลาทางจิต

    •    การใช้ธรรมชาติเพื่อเข้าถึงธรรมชาติ
ในขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายของกระบวนการปฏิบัติเพื่อแก้ไขภาวะใจร้อนในภาวะใจกระจกอย่างเป็นระบบ และเป็นมิติที่ลึกซึ้งมากขึ้น นั่นก็คือการใช้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดที่จะดูแลธรรมชาติได้ดี เท่ากับการใช้ธรรมชาติดูแลธรรมชาติกันเอง ในขั้นนี้เป็นการเข้าใจกระบวนการภายในของธรรมชาติ ดึงศักยภาพของธรรมชาติมาสร้างธรรมชาติให้ได้ รักษาภาวะที่เสถียรของจิตปัจจุบันให้ดำรงอยู่ ขั้นนี้เป็นขั้นของการสันดาปกันระหว่างกายภาพและจิตภาพอย่างลงตัวทำให้เกิดพลังอย่างหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่า “พลังปัญญา ความรู้แจ้ง” พลังนี้เองที่จะเป็นตัวสลายมลพิษให้หมดไป กลายเป็นธรรมชาติที่แท้ เกิดมิติทางความสุข ปีติ ปราโมทย์ ความสงบ (ปัสสัทธิ) และวิมุตติแห่งชีวิต เรียกว่า ภายนอก คือกายภาพก็เป็นปกติ สมบูรณ์ ส่วนภายใน คือ จิตภาพ ก็สงบ เบิกบาน มีคุณภาพจิตสูง
    แม้ว่าจะแสดงให้เห็นเป็นกระบวนการขั้นตอนทั้งระดับหลักการ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติเช่นนี้ แต่ในขั้นของการนำไปใช้ต้องใช้ร่วมกันอย่างเป็นหนึ่งเดียว มิใช่ใช้แยกส่วน เพราะทั้ง ๓ ส่วนนี้เป็นเกลียว หรือจักร ที่เนื่องด้วยกันเป็นเครื่องมือเดียวที่จะแก้ไขภาวะใจกระจกได้


สรุป
    ภาวะเรือนกระจก ปัญหาโลกร้อน เป็นปัญหาที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับภาวะใจกระจก ภาวะใจร้อน ถ้าไม่แก้ปัญหาภาวะใจกระจก ปัญหาโลกร้อนก็ไม่สามารถแก้ไขได้ โลกทางกายภาพนั้นแก้ได้เพียงแค่บรรเทา แต่ไม่สามารถห้ามโลกมิให้เกิดแผ่นดินไหว ไม่ให้หนาว ร้อนได้ เพราะเกี่ยวเนื่องกับดวงอาทิตย์ และดวงดาวอื่นๆ นั่นเป็นธรรมดาของโลก แต่โลกทางจิตภาพนั้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเป็นปัญหาที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง
วิธีแก้ไขปัญหาภาวะใจกระจกเริ่มจากปรับกระบวนทัศน์ ปรับพฤติกรรม และสร้างจิตสำนึกให้ถูกต้อง  แนวทางแก้ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ทั้งภาวะโลกร้อนและภาวะใจร้อน ภาวะเรือนกระจกและภาวะใจกระจก โลกที่ร้อนขึ้นยังไม่เท่ากับใจที่เร่าร้อน เผารนด้วยกิเลสหยาบ ใจที่เร่าร้อนย่อมทำลายได้ทั้งโลกและสัตว์ที่อาศัยบนโลก ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน เป็นวาระเร่งด่วนของโลกที่ต้องร่วมมือกันทำก่อนที่จะสายเกินไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น